ประวัติความเป็นมา ของ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาควิชาเคมีเทคนิคขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2502 จากวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ  ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมเคมีจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศ  ถึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งภาควิชาเคมีเทคนิคขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาควิชาแรกทางสาขาวิศวกรรมเคมีของประเทศไทย  โดยในตอนแรกได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรและอุปกรณ์จากภาควิชาเคมี  การพัฒนาภาควิชาเคมีเทคนิคเป็นไปในรูปการใช้หลักสูตรเคมีวิศวกรรมเป็นแกนและนำวิธีการที่เป็นเทคโนโลยีเฉพาะเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและ อุตสาหกรรมของประเทศมาผสมผสานในลักษณะดังกล่าว  จึงนับได้ว่าภาควิชาเคมีเทคนิคเป็นแกนนำให้เกิดการพัฒนาการศึกษา  ด้านเคมีวิศวกรรมและได้แตกแขนงออกเป็นการศึกษาวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารซึ่งต่อมาได้เจริญก้าวหน้าและขยายขอบข่ายออกไป  เป็นภาควิชาวัสดุศาสตร์  เมื่อปี พ.ศ. 2517  และภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร  เมื่อปี พ.ศ. 2527ตามลำดับ[1]

ไฟล์:CT Building64 1.jpgอาคารเคมีเทคนิคหลังเก่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณอาคารมหามกุฎ

หลักสูตรเคมีวิศวกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรเคมีให้กับภาคอุตสาหกรรมมาตั้งแต่เปิดสอนหลักสูตรเมื่อปี พ.ศ. 2502 มาจนถึงปัจจุบัน บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปประกอบอาชีพและมีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมน้ำมัน ฯลฯ หลักสูตรเคมีวิศวกรรมได้รับการรับรองโดยสภาวิศวกรในสาขาวิศวกรรมเคมี ดังนั้นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเคมีวิศวกรรม สามารถขอรับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาเคมี (ใบ กว.) ได้เช่นเดียวกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และยังสามารถสมัครเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกด้วย[2]